วันอาทิตย์ที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2554

น้ำอบไทย

ในสังคมไทยสมัยโบราณ การใช้เครื่องหอมได้สอดแทรกอยู่ในประเพณีต่างๆ ควบคู่กับการดำเนินชีวิต เช่น ประเพณีการโกนผมไฟ พิธีสรงน้ำพระ การรดน้ำดำหัวในวันสงกรานต์ ตลอดถึงการรดน้ำศพ เครื่องหอมมีหลายชนิด เช่น น้ำอบ น้ำปรุง สีผึ้ง แป้งร่ำ ดินสอพอง ฯลฯ แต่ที่นิยมใช้กันมากที่สุดคือ น้ำอบ ใช้เป็นเครื่องประทินผิว หลักฐานการใช้น้ำอบไทยหรือเครื่องหอมแบบไทยมีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย และต่อเนื่องมาในสมัยอยุธยาตอนปลาย สมัยรัตนโกสินทร์ พระพุทธเลิศหล้านภาลัย (ร.2) ทรงโปรดปราณการใช้น้ำอบ น้ำปรุงมาก คงจะเป็นตัวอย่างที่ดีในการแสดงให้เห็นถึงความนิยมในการใช้เครื่องประทินผิวของคนในสมัยนั้น ความนิยมต่างๆที่เกิดขึ้นในสังคมไทยสมัยก่อน มักจะออกมาจากในพระราชสำนัก สู่สามัญชน การใช้เครื่องหอมก็เช่นเดียวกัน
“น้ำอบ” เป็นคำที่เรียกใช้เครื่องหอมที่เป็นน้ำ สมัยก่อน การทำน้ำอบจะใช้ดอกไม้สดที่มีกลิ่นหอม เช่น ดอกมะลิ ดอกแก้ว ดอกชมนาด ฯลฯ เนื้อไม้ ยางไม้ เช่น ผิวมะกรูด แก่นไม้จันทร์ เปลือกชลูด โดยนำมาอบ ร่ำ ในน้ำให้มีกลิ่นหอมเย็นเป็นธรรมชาติ ซึ่งการทำน้ำอบแบบนี้ เป็นการทำในปริมาณไม่มากนัก ทำใช้กันในครัวเรื่อน และจะทำใช้กันวันต่อวัน เพราะถ้าทิ้งไว้นาน กลิ่นของดอกไม้สดจะเปลี่ยน ในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้มีการนำเอาหัวน้ำหอมจากต่างประเทศเข้ามาประยุกต์ใช้กับเครื่องหอมโบราณของไทย ทำให้เกิดลักษณะของการทำน้ำอบเป็น 2 อย่าง คือ น้ำอบไทย กับน้ำอบฝรั่ง ทำให้ค่านิยมของการใช้น้ำอบไทยลดลง
“น้ำอบไทย” คือน้ำที่อบด้วยควันกำยาน หรือเทียนอบ (ทำจากผิวมะกรูด กำยาน น้ำตาลแดง ขี้ผึ้ง และจันทร์เทศ) และน้ำมาปรุงด้วยเครื่องหอม มีสักษระเป็น น้ำใสสีเหลืองอ่อนๆ ซึ่งมีความแตกต่างจากน้ำหอม หรือน้ำอบฝรั่ง ทั้งลักษณะของกลิ่นและขบวนการผลิต ปัจจุบันความนิยมของคนรุ่นใหม่ต่อน้ำอบไทยในลักษณะของเครื่องประทินผิวหรือเครื่องสำอางลดน้อยลงมาก แต่น้ำอบไทยก็ยังเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นสำหรับสังคมไทย เพราะจะนำไปใช้ในพิธีกรรมต่างๆ เช่น งานมงคลสมรส งานสงกรานต์ งานขึ้นปีใหม่ สรงน้ำพระ การรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ และใช้ในงานศพ เป็นต้น ซึ่งการใช้น้ำอบไทยในงานประเพณีต่างๆ เป็นเครื่องแสดงถึงการสืบทอดวัฒนธรรมและเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของสังคมไทย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

ท่านมีความพึงพอใจกับบล็อคนี้มากเพียงใด